เมโทรนอม

เมโทรนอม มาทำความรู้จักกับเครื่องเคาะจังหวะที่นักดนตรีขาดไม่ได้

จังหวะ คือ หนึ่งในสิ่งสำคัญที่นักดนตรีทุกคนต้องคำนึงถึงไม่ว่าพวกเขาจะเล่นเครื่องดนตรีประเภทใดก็ตาม การฝึกเล่นดนตรีให้ตรงจังหวะถือเป็นพื้นฐานที่จำเป็น และอุปกรณ์หนึ่งที่บรรดานักดนตรีต้องมีติดตัวเอาไว้นั่นก็คือ เมโทรนอม หรือ เครื่องเคาะจังหวะ นั่นเอง

เมโทรนอม (เครื่องเคาะจังหวะ) คืออะไร?

เมโทรนอม หรือ ในภาษาไทยเรียกว่า เครื่องเคาะจังหวะ เป็นอุปกรณ์ที่จะคอยส่งเสียงกำกับความเร็วในการเล่นเครื่องดนตรี ซึ่งจะใช้ทั้งในการซ้อมเดี่ยว ซ้อมรวมวง รวมถึงในการแสดงจริง สำหรับวงดนตรีทั่วไป ส่วนใหญ่ตำแหน่งที่ต้องฟังเสียงเมโทรนอมขณะเล่นก็คือมือกลอง เพราะมือกลองคือผู้ที่ต้องควบคุมจังหวะและความเร็วของเพื่อนร่วมวงคนอื่นๆ

 

ที่มาของอุปกรณ์ที่เรียกว่า เมโทรนอม

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 17 นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก Galileo Galilei มีความคิดที่จะใช้ลูกตุ้มเพื่อจับจังหวะ

Etienne Loulie ประดิษฐ์เมโทรนอมแบบกลไกโดยใช้ลูกตุ้มได้สำเร็จเป็นคนแรกในปีค.ศ. 1696 แต่เมโทรนอมของเขาไม่มีเสียงและเฟืองแกว่งที่ช่วยให้ลูกตุ้มเคบื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง นักดนตรีใช้งานเมโทรนอมรุ่นนี้โดยดูจากจังหวะการแกว่งของลูกตุ้ม

ในปีค.ศ. 1814 Dietrich Nikolaus Winkel ประดิษฐ์อุปกรณ์การให้จังหวะขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ต่อมา Johann Maelzel ได้นำอุปกรณ์ชิ้นนั้นไปต่อยอดโดยการใส่หน่วยวัดเข้าไป แล้วเรียกมันว่า เมโทรนอม หรือ เครื่องเคาะจังหวะ และได้เริ่มผลิตเมโทรนอมขึ้นภายใต้ชื่อ Maelzel Metronome ในปีค.ศ. 1816

มีการคาดการณ์ว่านักประพันธ์เพลงคนแรกที่ใส่เครื่องหมายกำหนดเมโทรนอมลงไปในบทเพลงของเขาก็คือ Ludwig van Beethoven ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1817

 

เมโทรนอม มีกี่ประเภทและแบบไหนน่าใช้

ในปัจจุบัน เมโทรนอมสามารถแบ่งออกได้ง่ายๆ เป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

เมโทรนอม แบบกลไก (Mechanical Metronome)

เมโทรนอม

เมโทรนอมแบบกลไกจะมีลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักติดอยู่ที่ก้านซึ่งจะแกว่งไปมาและมีกลไกที่ทำให้เกิดเสียงขึ้นตามจังหวะการแกว่งนั้นๆ เราสามารถเลื่อนลูกตุ้มขึ้นหรือลงได้ หากเลื่อนขึ้นจะทำให้การแกว่งช้าลง ซึ่งความเร็วในการแกว่งของก้านเมโทรนอมก็คือความเร็วของจังหวะที่เราเล่นนั่นเอง เมโทรนอมแบบกลไกไม่ใช้แบตเตอรี่ เรามักจะพบเห็นเมโทรนอมประเภทนี้ในการเล่นเปียโน

เมโทรนอม แบบกลไกไฟฟ้า (Electromechanical Metronome)

เมโทรนอม-ไฟฟ้า

เมโทรนอมประเภทนี้ผู้ประดิษฐ์ขึ้นโดย  Franz Frederick เมโทรนอมแบบกลไกไฟฟ้าใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าแทนที่กลไกนาฬิกาและบางรุ่นจะมีไฟกระพริบตามจังหวะด้วย ผู้ผลิตเมโทรนอมประเภทนี้ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในช่วงปี 1960 ถึง 1970 คือ Franz และ บริษัท YAMAHA โดยรุ่นที่มีชื่อเสียงได้แก่ Franz LB4

เมโทรนอมดิจิตอล (Electronic Metronome)

เมโทรนอม-ดิจิตอล

เป็นเมโทรนอมที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน สามารถตั้งรายละเอียดการให้จังหวะตามค่าตัวโน้ตและสัดส่วนต่างๆ ได้ อีกทั้งในบางรุ่นยังสามารถใช้เป็นเครื่องตั้งสายกีต้าร์และเบสได้ด้วย เมโทรนอมชนิดนี้จะสามารถตั้งค่าจังหวะได้ละเอียดกว่า โดยที่สามารถเลือกค่าได้มากกว่าค่าของโน้ตตัวดำเพียงอย่างเดียว

แอปพลิเคชั่นเมโทรนอม (Metronome Application)

เมโทรนอม-แอพ

ถือเป็นความสะดวกสบายของนักดนตรีในยุคแห่งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ท ในวันที่มีแอปพลิเคชั่น เมโทรนอม ต่างๆ ให้เลือกมากมายทั้งแบบที่โหลดมาใช้ได้ฟรีๆ กับแบบที่ต้องเสียเงินซื้อ (ซึ่งผู้เขียนคิดว่าไม่จำเป็นเท่าไหร่) โดยเราสามารถไปหามาใช้งานได้ในสโตร์ของระบบปฏิบัติการที่ใช้งานอยู่ทั้งแอนดรอยด์ และ iOS วิธีการใช้งานและตั้งค่าจังหวะของแอปฯ เมโทรนอมจะคล้ายกับเมโทรนอมไฟฟ้า

 

วิธีการใช้งานเมโทรนอม (เครื่องเคาะจังหวะ) แบบเข้าใจง่าย

ก่อนที่เราจะเริ่มใช้งานเมโทรนอม หรือ เครื่องเคาะจังหวะ เราจำเป็นต้องทราบวิธีการนับจังหวะและค่าของตัวโน้ตแต่ละชนิดเสียก่อน

ค่าของตัวโน้ตที่ถูกใช้ในเมโทรนอม

ค่าของโน้ต

โน้ตที่เราจะใช้กำหนดความเร็วของจังหวะหรือบทเพลงต่างๆ คือ โน้ตตัวดำ ที่มีค่า 1 จังหวะ และหน่วยของความเร็วจังหวะคือ Beat per Minute หรือ BPM (จังหวะต่อนาที)

ตัวอย่างเช่น 

การฝึกซ้อมหรือเล่นบทเพลงที่มีความเร็ว 80bpm หมายความว่า เราต้องตั้งความเร็วของเมโทรนอม (เครื่องเคาะจังหวะ) ไว้ที่ 80 และใน 1 นาที จะมีเสียงเคาะบอกจังหวะ 80 ครั้ง

ถ้าเป็นเมโทรนอมแบบกลไก จังหวะการแกว่งของก้านจะเท่ากับโน้ตตัวดำอยู่แล้ว ให้เราเลื่อนลูกตุ้มไปยังค่าความเร็วที่ต้องการ (ในตัวอย่างนี้คือ 80bpm)

หากเป็นเมโทรนอมไฟฟ้า หรือ แอปฯ เมโทรนอม ให้เราเลือกตั้งค่าความเร็วที่ต้องการ (80bpm) โดยเลือกค่าของเสียงเคาะจังหวะให้เป็นโน้ตตัวดำ เนื่องจากเมโทรนอมไฟฟ้าและแอปฯ สามารถตั้งค่าเสียงเคาะจังหวะได้หลากหลาย (เช่น เป็นเขบ็ด 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น) เรายังสามารถตั้งค่าเสียงเคาะจังหวะโดยเน้นจังหวะที่ 1 ของห้องได้อีกด้วย (1 ห้องดนตรีพื้นฐาน มี 4 จังหวะ หรือ = โน้ตตัวดำ 4 ตัว)

เมื่อตั้งค่าความเร็วจังหวะแล้วให้เราฝึกซ้อมตามแบบฝึกหัด หรือ โน้ต กำหนดมา โดยเล่นให้ความเร็วของโน้ตตัวดำเท่ากับเสียงจังหวะของเมโทรนอม

***จำไว้ว่าเสียงเคาะจังหวะของเมโทรนอมคือความเร็วของโน้ตตัวดำ ดังนั้น หากเล่นโน้ตชนิดอื่น เราต้องเล่นให้ได้สัดส่วนและความเร็วตรงกับเสียงเคาะจังหวะ และเราต้องฝึกนับจังหวะให้เชี่ยวชาญด้วย***

 

ทั้งหมดนี้ก็คือความรู้พื้นฐานและวิธีใช้งานอุปกรณ์ที่เรียกว่า เมโทรนอม หรือ เครื่องเคาะจังหวะ แบบคร่าวๆ ซึ่งบรรดานักดนตรีหน้าใหม่ทุกคนควรทราบไว้ เพราะหากใช้งานเมโทรนอมอย่างถูกวิธี เจ้าอุปกรณ์สารพัดประโยชน์นี้จะช่วยให้เรากลายเป็นสุดยอดนักดนตรีที่มากความสามารถในอนาคตได้