เหนือประยุทธ์ ? ย่อมมี เอ้ยผิดๆๆ เหนือจอมยุทธ์ย่อมมีเทพเจ้า หลังจากที่ได้อ่านบทความการ ตั้งสายกีต้าร์ ของแต่ละเจ้าไป ก็มาสะดุดตาที่หัวข้อ 5 วิธีตั้งสายกีต้าร์ ฉบับจอมยุทธ์ ถึงกับต้องทำให้กดเข้าไปอ่านกันเลยทีเดียวว่าการตั้งสายแบบจอมยุทธ์มันเป็นอย่างไร
หลังจากที่เราได้อ่านจึงอยากที่จะเขียนแนวทางการตั้งสายลงเว็บ Big Bro Music บ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ให้เพื่อนๆ และแตกต่างจากทั่วๆไป จึงเกิดหัวข้อนี้ขึ้นมา ” วิธีตั้งสายกีต้าร์ ง่ายๆ ระดับมืออาชีพหรือขั้นเทพนั้นเค้าตั้งกันยังไง “ โดยจะพูดถึงวิธีการตั้งแบบปกติ ที่เหมาะสำหรับมือใหม่ด้วย แต่จะแทรกเนื้อหาวิธีการตั้งแบบแปลกๆ ให้ได้อ่านกันเพื่อใครจะนำไปใช้จริงหรือตั้งกันเล่นๆ ก็ได้ฮ่าๆ
ก่อนจะ ตั้งสายกีต้าร์ เริ่มต้นรู้จักโน้ตต่างๆ กันก่อน
ก่อนที่จะเข้าเรื่องการตั้งสายนั้น ในเมื่อเราต้องการระดับมืออาชีพ ให้ขั้นเทพ เลยจะขออธิบายเรื่องตัวโน้ตซักหน่อย เพราะการตั้งสายนั้นก็คือก็ตั้งโน้ตให้ตรงนั้นเอง โดยโน้ตทั้งหมดที่คนเรารู้จักและถูกนำมาใช้งานนั้นมีโน้ตทั้งหมด 12 เสียงด้วยกันเท่านั้นเอง ดังนั้นเพลงหรือเสียงที่เราได้ยินในทุกวันนี้ก็คือเสียง 12 เสียงที่ถูกนำมาผสมกันไปมา
โน้ต 12 เสียงนั้นมีอะไรมาลองมาทำความรู้จักกัน โดยคิดว่าทุกคนคงจะได้ต้องรู้จักอยู่แล้วแน่ๆถึง 7 ตัวนั้นก็คือ
- โด(C)
- เร(D)
- มี(E)
- ฟา(F)
- ซอล(G)
- ลา(A)
- ที(B)
โดยตามหลักสากลแล้วเราก็จะใช้ตัวอักษรภายในวงเล็บแทนการร้องเสียงของโน้ต ซึ่งเรียกว่าเป็นโน้ตที่ไม่ติดเครื่องหมาย และมีโน้ตที่ติดเครื่องหมาย ชาร์ป(#) หรือ แฟลต(b) อีก 5 ตัว ยกตัวอย่างเช่น โดชาร์ป ก็จะสามารถเขียนได้ว่า C# ซึ่งก็จะถือเป็นโน้ตที่ติดเครื่องหมายทำให้เสียงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะขออธิบายในบทความต่อๆไป
สรุปได้ว่า โน้ตทั้งหมดที่มีนั้นทั้งโน้ตปกติที่ไม่ติดเครื่องหมายและโน้ตที่ติดเครื่องหมายนั้น รวมกันทั้งหมดก็ได้โน้ตทั้งสิ้น 12 เสียง โดยจะขอเปรียบเทียบกับสีซึ่งแปลว่าเรามีสี 12 สีนั้นเอง โดยเครื่องดนตรีสากลนั้นก็จะใช้โน้ตเหล่านี้ในการบรรเลง ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องตั้งเสียงของเครื่องดนตรีให้ตรงกันนั้นเอง
หลักวิทยาศาสตร์ กับการ ตั้งสายกีต้าร์ ที่ควรรู้!
คราวนี้เราลองมาอธิบายเรื่องของเสียงที่เราได้ยินในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ดูบ้าง หลายคนที่เรียนสายวิทย์ก็คงพอจะทราบว่า เสียง นั้นก็เป็นพลังงานรูปนึงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนแล้วเดินทางผ่านอากาศมาและเราสามารถรับรู้ได้ด้วยหูของเรานั้นเอง เพราะฉะนั้นโน้ตต่างๆที่เราได้ยินนั้น ก็คือพลังงานรูปแบบนึง ซึ่งการสั่นสะเทือนที่ระดับต่างๆก็จะให้เสียงสูงต่ำต่างกันไป โดยจะขอยกตัวอย่างโน้ต Concert Pitch หรือโน้ต A ที่ความถี่ 440 Hz(เฮิตซ์) ถ้าแปลเป็นในทางวิทยาศาสตร์ก็จะแปลว่า มีการสั่นสะเทือนทั้งหมด 440 ครั้งต่อ 1 วินาที ซึ่งทำให้ได้เสียง ลา(A) ออกมานั้นเอง
หลังจากอธิบายเรื่องเสียงและตัวโน้ตไปแล้วลองมาดูรายละเอียดในกีต้าร์กันบ้างว่า ตั้งสายกีต้าร์ กันยังไง มีโน้ตตัวอะไรบ้างที่เราต้องรู้ในการที่จะได้สายกีต้าร์ได้อย่างถูกต้อง ให้ได้มาตรฐาน ระดับมืออาชีพ
กีต้าร์นั้นจะมีสายทั้งหมด 6 สายซึ่งเราจะนับสายที่มีเสียงสูงที่สุดว่า สายที่1และไล่ขึ้นไปจนถึงสายที่6 โดยสายแต่ละเส้นก็จะให้โน้ตแตกต่างกันไป ดังนี้
จากรูปก็จะเห็นได้ว่ามีโน้ต มี(e) ที(B) ซอล(G) เร(D) ลา(A) และ มี(E) ซ้ำที่สาย6 ซึ่งเป็นเสียง มี(E) ที่ต่ำกว่า มี(e) ที่อยู่บนสาย1 ดังนั้นเมื่อทราบแล้วว่าสายกีต้าร์เปล่าๆ ที่ไม่มีการกดลงบนเฟรทมีโน้ตอะไรบ้าง คราวนี้เราก็ต้องมีอุปกรณ์ หรือตัวช่วย ที่จะสามารถทำให้เราตั้งสายให้ตรงกับมาตรฐานได้ โดยตัวช่วยที่จะนำมาใช้ในการ ตั้งสายกีต้าร์ นั้นในปัจจุบันก็มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทั้ง แอพพลิเคชั่น หรือ เครื่องตั้งสาย ที่มีหลากหลายราคา หลากหลายฟังชั่น หรือแม้กระทั่งการฝึกตั้งด้วยตัวเองโดยการจดจำเสียง ดังนั้น เราจะลองมาดูรายละเอียดวิธีตั้งสายกีต้าร์แต่ละรูปแบบกัน
วิธีการตั้งสายกีต้าร์ ด้วยวิธีต่างๆ ที่นิยมใช้กัน
1.แอพตั้งสายกีต้าร์
ในโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะทั้งระบบ Android หรือ iOS นั้นก็มีแอพที่จะมาเป็นตัวช่วยในการตั้งสายหลากหลายแอพมีทั้งฟรีและเสียเงินซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อยแต่ก็สามารถนำใช้งานได้คล้ายๆกัน
โดยเราสามารถโหลดแอพและนำมาเปิดใช้ได้เลย โดยแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ก็จะใช้ไมค์ของโทรศัพท์นั้นเป็นตัวรับเสียงแล้วตัวแอพก็จะระบุโน้ตต่างๆโดยจำแนกโดยใช้ความถี่ที่ได้รับเข้ามานั้นเอง
หลักการใช้งานเบื้องต้น
หลัการใช้งานของแอพตั้งสายเหล่านี้จะมีหลักการเหมือนกับการใช้ เครื่องตั้งสายกีต้าร์ แต่อาจจะแตกต่างกันที่วิธีรับสัญญาณเสียงนั้นเอง
ข้อดี-ข้อเสีย
- ซึ่งการตั้งสายโดนใช้แอพนั้นมีข้อดีที่ประหยัดและใช้งานได้ไม่ยากนัก
- ส่วนข้อเสียก็คือถ้าอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยก็อาจจะทำให้การตั้งสายนั้นเป็นไปไม่ได้เลย อย่างเช่น ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนมากๆ แอพก็จะไม่สามารถจำแนกความถี่ได้เพราะเสียงที่เข้าไมค์นั้นมีมากเกินไป
2.การตั้งสายกีต้าร์ โดยใช้ เครื่องตั้งสายกีต้าร์
การตั้งสายโดยใช้เครื่องนั้นถือว่าจะช่วยให้เราตั้งสายได้เที่ยงตรงที่สุด เพราะเครื่องตั้งสายนั้นได้รับความถี่โดยตรงจากตัวกีต้าร์ซึ่งเครื่องตั้งสายกีต้าร์ในปัจจุบันก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเอามาหนีบไว้บนหัวกีต้าร์ หรือเป็นเครื่องตั้งที่รับสัญญาณไฟฟ้าโดยตรงที่ใช้กับกีต้าร์ไฟฟ้าก็ได้ ซึ่งเครื่องตั้งสายเหล่านี้จะได้รับเสียงโดยตรงของตัวกีต้าร์และสามารถจำแนกความถี่ต่างๆให้เป็นโน้ตและโชว์ขึ้นมาบนเครื่องได้ซึ่งก็ถือว่าสะดวกทีเดียว ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลากหลายราคา หลากหลายแบรนด์ให้เราได้เลือกซื้อซึ่งราคาแตกต่างกันนั้นก็มาจากเซนเซอร์ตัวรับสัญญาณที่มีคุณภาพแตกต่างกันไป
หลักการใช้งานเบื้องต้น
หลักการใช้งานของเครื่องตั้งสายไม่ว่าจะเป็นแบบหนีบไว้บนหัวกีต้าร์ หรือเป็นเครื่องตั้งที่รับสัญญาณไฟฟ้าโดยตรงที่ใช้กับกีต้าร์ไฟฟ้า คือเมื่อติดตั้งอุปกรณ์กับตัวกีต้าร์แล้วเปิดใช้งานอุปกรณ์โดยส่วนใหญ่จะมีการแสดงผล 2 ลักษณะคือ
1. ตั้งโดยตัวอุปกรณ์จะแสดงผลเป็นหมายเลขแต่ละสาย เช่น เมื่อเราดีดสาย 1 ของกีต้าร์ หน้าปัดอุปกรณ์จะแสดงผลเป็นเลข 1 และจะมีตัวเข็มหรือจุดบอกว่าสายที่เราดีดนั้นมีเสียงที่สูงไปหรือต่ำไป ซึ่งเราจะต้องตัวลูกบิดกีต้าร์ให้ตัวเข็มหรือจุดอยู่ตรงกลางก็จะถือว่าเสียงตรง ซึ่งวิธีตั้งแบบนี้อาจจะเหมาะกับผู้ที่พึ่งหัดเล่นหรือผู้ที่ยังไม่มีความรู้เรื่องตัวโน้ตบนคอกีต้าร์
2. ตั้งโดยตัวอุปกรณ์จะแสดงย่านความถี่ของสายที่เราดีดโดยหน้าปัดจะแสดงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษแทนชื่อโน้ตตามที่กล่าวมาข้างต้นของบทความ ซึ่งการตั้งลักษณะนี้จะต้องใช้ความรู้เรื่องโน้ตบนคอกีต้าร์และความชำนาญอยู่บ้าง ข้อดีของวิธีตั้งแบบนี้คือ เราจะสามารถตั้งสายในลักษณะที่เรียกว่าดรอปสายได้ง่าย ส่วนขอควรระวังคือเราต้องระวังความตึงของสายที่เราตั้งให้ดี เช่น สมมุติว่าเราจะตั้งสายให้เป็นเสียง มี(E) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโน้ต มี ในออกเทฟที่เท่าไรก็ตามหน้าปัดจะแสดงเป็นอักษร E เสมอ เราจึงต้องสักเกตุความตึงของสายให้ดี ซึ่งถ้าเราเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโน้ตตัว มี(E) ออกเทฟที่สูงไปก็จะทำให้สายขาดได้เวลาตั้งสาย
ข้อดี-ข้อเสีย
- โดยข้อดีของการใช้เครื่องตั้งสาย ก็คือ เที่ยงตรง แม่นยำ สามารถใช้งานได้สะดวก
- ส่วนข้อเสียนั้น อาจจะต้องทำความเข้าใจกับระบบของเครื่องและเสียเงินซื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เครื่องตั้งสายกีต้าร์ 10 รุ่นยอดฮิต ที่เสถียรและคุ้มจริง ราคาเริ่มต้นหลักร้อย
3.ตั้งสายกีต้าร์ โดยใช้หูของเราในการเทียบเสียง
การตั้งสายรูปแบบนี้อาจจะต้องใช้การฝึกฝนหูของเราให้เปรียบเทียบเสียงได้ โดยในการเทียบนั้นเราอาจจะเทียบกับเครื่องดนตรีอื่นๆ อย่างเช่นเปียโนไฟฟ้าที่เสียงไม่มีทางเพี้ยน หรืออาจจะใช้วิธีการจดจำเสียงเพื่อฝึกใช้ในการตั้งสาย โดยการตั้งสายแบบนี้จะต้องใช้ทักษะค่อนข้างสูงและฝึกฝนเป็นเวลานาน แต่ก็ถือว่าเป็นทักษะที่นักดนตรีควรจะมี เพราะทำให้เราสามารถจัดการกับปัญหาในยามฉุกเฉินได้ ดังนั้นถ้าใครอยากจะฝึกก็ถือว่าเป็นอีกทางนึงในการที่จะช่วยเราในการตั้งสายให้ตรง
หลักการใช้งานเบื้องต้น
แน่นอนว่าวิธีตั้งสายวิธีนี้เราจะต้องมีความรู้ความเขาใจในอุปกรณ์ที่จะนำมาเทียบเสียงและความรู้เกี่ยวกับโน้ตบนคอกีต้าร์ด้วยเช่นกัน ว่าโน้ตสายเปิดของแต่ละสายนั้นเทียบกันได้กับโน้ตตัวไหนของอุปกรณ์และเครื่องดนตรีที่นำมาเทียบ โดยโน้ตบนคอกีต้าร์มีดังนี้
โดยวิธีตั้งคือเราจะต้องเทียบเสียงกสายเปิดกับเครื่องดนตรีที่เราจะนำมาเทียบเสียง โดยเราจะใช้โน้ตที่ตรงกับสายเปิดของแต่ละสายมาเทียบเสียงกัน หรือเราอาจจะตั้งสายโดยเทียบกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นเพียงสายเดียวแล้วค่อยเทียบเสียงสายที่เหลือจากสายที่เราตั้งโดยการเทียบโน้ตบนคอกีต้าร์ตามภาพตัวอย่างด้านบน เช่น โน้ตสายที่ 6 ช่องที่ 5 จะเป็นโน้ตตัวเดียวกันกับโน้ตสายเปิด (Open Strings) ของสายที่ 5 เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้แนะนำว่าควรเริ่มตั้งที่สาย 6 เป็นสายแรก เนื่องจากจะทำให้ง่ายในการการตั้งสายอื่นๆ ต่อไป
ข้อดี-ข้อเสีย
- ข้อดีช่วยให้สามารถแก้ปัญหายามฉุกเฉินได้เมื่อไม่มีตัวช่วย
- ข้อเสีย ใช้เวลาฝึกนาน และอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ไม่แม่นยำเท่ากับเครื่องตั้งสาย
จากวิธีการตั้งสายที่อธิบายมานั้น เราจะเห็นได้ว่าในทุกรูปแบบการตั้งสายนั้นจะต้องมีเซนเซอร์ที่จะใช้รับรู้เสียงและทำการจำแนกความถี่ เพื่อระบุเป็นตัวโน้ตให้เรา อย่างถ้าเป็นแอพก็จะใช้ไมค์รับความถี่และแอพประมวลผลเพื่อบอกตัวโน้ต เครื่องตั้งสายก็เช่นกันมีเซนเซอร์ตัวรับความถี่และบ่งบอกตัวโน้ต ส่วนหูของเราก็เปรียบเสมือนตัวรับสัญญาณและประมวลผลด้วยสมองที่ใช้ในการเปรียบเทียบเสียงหรือจดจำเสียงนั้นเอง