ไวโอลิน หนึ่งในเครื่องดนตรีสากลที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานและด้วยน้ำเสียงมีเอกลักษณ์ ที่สามารถสื่ออารมณ์ทั้งเศร้าและสนุกสนานได้เป็นอย่างดี จึงถือได้ว่าไวโอลินเป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว และบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักเบื้องต้นกับเครื่องดนตรีชนิดนี้กันครับ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ
1.) ประวัติความเป็นมาของไวโอลิน
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่จัดอยู่ในหมวดเครื่องสายให้กำเนิดเสียงด้วยวิธีการสีเป็นหลัก โดยไวโอลินมีการคาดการว่ามีการพบเห็นครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยไวโอลินมีเครื่องดนตรีที่เป็นต้นแบบคือ เรเบค (Rebec) , ซอเรอเนซองซ์ ( The Renaissance Fiddle ) , ลีรา ดา บราชโช ( Lira Da Braccio )
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีตระกูลไวโอลิน ซึ่งประกอบไปด้วย ไวโอลิน ( Violin ) , วิโอลา ( Viola ) , เชลโล ( Cello ) ดับเบิลเบส ( Double Bass ) โดยไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่มีขนาดเล็กที่สุดและมีเสียงที่อยู่ในย่านเสียงกลางถึงสูง จึงเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นเสียงสูงภายในกลุ่มตระกูลไวโอลินด้วยกัน
2.) ส่วนประกอบไวโอลิน
การเล่นไวโอลินจะต้องใช้อุปกรณ์ 2 อย่างในการเล่นคือ ตัวไวโอลิน และ คันชัก โดยส่วนประกอบของอุปกรณ์ทั้ง 2 อย่างมีดังนี้
ตัวไวโอลิน
- หัวไวโอลิน ( Scroll )
- โพรงลูกบิด ( Pegbox ) เป็นช่องสำหรับยึดลูกบิดกับสายไวโอลิน
- ลูกบิด ( Peg ) ใช้สำหรับบิดเพื่อตั้งสายไวโอลิน
- สายไวโอลิน ( String ) ไวโอลินจะมีสายทั้งหมด 4 สาย
- คอ ( Neck )
- ฟิงเกอร์บอร์ด ( Fingerboard ) เป็นส่วนที่ใช้ในการรับแรงกดของสายไวโอลินเวลาเล่น
- ตัวไวโอลินส่วนบน ( Upper Bout )
- เอว หรือ ส่วนเว้าของตัวไวโอลิน ( Waist )
- ช่องเสียง ( F-holes ) เป็นช่องที่ทำหน้าที่กระจายเสียงของตัวไวโอลิน
- หย่อง ( Bridge ) ทำหน้าที่ยกตัวสายไวโอลินให้สูงเหนือตัวฟิงเกอร์บอร์ด
- ตัวไวโอลินส่วนล่าง ( Lower Bout )
- ตัวปรับเสียง ( Fine Tuners ) เป็นก้านโลหะที่ใช้สำหรับปรับสายให้ตึงหรือหย่อนได้เล็กน้อยเพื่อช่วยในการตั้งสายให้ง่ายขึ้น สำหรับมือใหม่ตัวไวโอลินอาจจะจะต้องมี Fine Tuners ทุกสายเพื่อช่วยในการตั้งสายแต่สำหรับไวโอลินของผู้เล่นความชำนาญแล้วจะมี Fine Tuners ที่สายเสียง E เพียงสายเดียว
- หางปลา ( Tailpiece ) เป็นส่วนที่ใช้ยึดสายไวโอลินบริเวณตัวไวโอลินส่วนล่าง
- ที่รองคาง ( Chinrest ) ใช้สำหรับรองคางเวลาเล่น
ส่วนประกอบคันชัก (Bow)
- เกลียวทองเหลือง ( Screw ) ใช้ในการขันเพื่อทำให้หางม้าตึง
- หนังหุ้มด้ามคันชัก ( Pad ) มีไว้เพื่อกันนิ้วลื่นเวลาเล่น
- แกนไม้ ( Stick ) เป็นส่วนแกนหลักของตัวคันชักใช้สำหรับยึดส่วนหางม้า
- หางม้า ( Hair ) เป็นส่วนที่ใช้สัมผัสกับตัวสายไวโอลินเวลาสีเพื่อให้เกิดเสียง
- ส่วนยึดหางม้า ( Frog ) เป็นส่วนที่ใช้ยึดหางม้าและใช้จับเพื่อให้ใช้งานได้ถนัดเวลาเล่น
3.) วิธีดูแลรักษาไวโอลิน
สำหรับนักดนตรีแล้วการดูแลรักษาเครื่องดนตรีของตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีความพร้อมในการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเวลาใช้งานนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และก็เป็นการที่จะยึดอายุการใช้งานของเครื่องดนตรีได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่มีวัสดุส่วนใหญ่เป็นไม้ ซึ่งสิ่งที่ส่งผลกับไม้มีดังนี้
- ความชื้นความชื้นนั้นส่งผลทำให้ไม้ที่เป็นส่วนประกอบหลักของไวโอลินนั้นมีการบวมและมีการหดตัวได้ ซึ่งอาจจะทำให้การเล่นไวโอลินไม่เหมือนเดิมและอาจจะเล่นยากขึ้น รวมไปถึงอาจจะทำให้ตัวไวโอลินนั้นเกิดการชำรุดได้ รวมไปถึงในพื้นที่ที่มีความชื้นมากก็อาจจะทำให้ส่วนประกอบที่เป็นโลหะ เช่น สายไวโอลิน เป็นสนิมได้
- อุณหภูมิการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเองก็ส่งผลต่อการหดขยายตัวของไม้และโลหะที่ใช้ทำตัวไวโอลินเช่นกัน ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้สายไวโอลินเพี้ยนได้ ซึ่งก่อนที่จะเล่นจึงควรที่จะมีการตั้งสายก่อนเล่นเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
- การขนย้ายอุปกรณ์การขนย้ายอุปกรณ์นั้นถือได้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายกับตัวอุปกรณ์ได้ถ้าไม่มีระมัดระวังและขนย้ายไม่ถูกวิธี ดังนั้นสิ่งที่มีความจำเป็นมากนั้นก็คือถุงหรือกล่องที่ใช้ใส่ตัวไวโอลินที่จะต้องสามารถป้องกันการกระแทกได้หรือป้องกันความชื้นได้และถุงหรือกล่องนั้นควรจะยึดตัวไวโอลินไม่ให้ขยับได้ภายในกล่องเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
4.) วิธีดูแลรักษาไวโอลิน อย่างไรให้ถูกวิธี
การดูแลรักษาไวโอลินสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ
1. ส่วนของตัวไวโอลิน
- เช็ดทำความสะอาดตัวไวโอลินด้วยผ้านุ่มและสะอาดทุกครั้งหลังเล่นเสร็จ
- ควรใช้ผ้านุ่มและสะอาดชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดยางสนที่เกาะอยู่บนตัวไวโอลิน แต่ต้องระวังไม่ให้แอลกอฮอล์โดนส่วนของวานิชที่เคลือบตัวไวโอลินอยู่
- ควรเก็บไวโอลินไว้ในกล่องหรือซองที่เหมาะสมเพื่อป้องกันฝุ่นและความเสียหายอื่นๆ
- เวลาทำการเปลี่ยนสายไวโอลินนั้นควรถอดและเปลี่ยนทีละสายไม่ควรถอดสายออกมาทั้งหมดในครั้งเดียวเพราะจะทำให้สมดุลความตึงของสายกับตัวคอไวโอลินนั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ซึ่งอาจจะทำให้ความงอของส่วนคอเปลี่ยนไปและอาจจะทำให้การเล่นเปลี่ยนไปได้
- ควรจะมีการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คตัวไวโอลินเพื่อเซ็ตตำแหน่งอุปกรณ์และส่วนประกอบต่างๆให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและเป็นการซ้อมบำรุงไวโอลินอย่างจริงจัง
2. ส่วนของคันชัก
- หลังจากการเล่นควรมีการผ่อนความตึงของหางม้าเพื่อไม่ให้คันชักงอ
- ควรเก็บตัวคันชักไว้ในกล่องสำหรับใส่ไวโอลินที่มีส่วนเก็บคันชักหรือเก็บไว้ในที่ๆเหมาะสมและปลอดภัย
- ควรจะมีการเปลี่ยนส่วนของหางม้าใหม่ทุกๆ 1 ปี โดยผู้เชียวชาญ
- นอกจากตัวไวโอลินที่จะต้องระวังเรื่องความแตกต่างของอุณหภูมิแล้วส่วนของตัวคันชักเองก็ต้องระวังเรื่องอุณหภูมิที่เหมาะสมเช่นกัน
- เวลาใช้งานหรือถือคันชักควรระวังเรื่องการกระแทกหรือหล่นจากการจากการใช้งาน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้
- ก่อนเล่นควรมีการถูยางสนในส่วนหางม้าทุกครั้งก่อนเล่นเพื่อให้ส่วนของหางม้าเกาะกับสายไวโอลินได้ดีเวลาเล่น
- ถ้าหากในกรณีที่หางม้าหลุดหรือขาดไม่ควรดึงออก ควรใช้กรรไกรตัดออก
- ไม่ควรใช้มือเปล่าจับในส่วนของหางม้าโดยตรง
- ระวังในส่วนของส่วนเชื่อมต่อระหว่างคันชักกับหางม้าถูกน้ำเนื่องจากบริเวณนั้นมีกาวที่ยึดหางม้าซึ่งเมื่อโดนน้ำอาจจะที่ให้กาวเสื่อมได้และอาจจะทำให้หางม้าหลุดออกจากคันชักได้
- ควรทำความสะอาดคันชักทุกครั้งหลังเล่นเสร็จ
5.) หลักการเบื้องต้นในการเลือกซื้อไวโอลิน
ก่อนที่จะ เลือกซื้อไวโอลิน สิ่งที่ต้องงรู้อีกเรื่องก็คือการเลือกขนาดของไวโอลินที่เหมาะสมกับตัวผู้เล่นนั้นเอง เนื่องจากไวโอลินนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายขนาด โดยวิธีเลือกทำได้ดังนี้
โดยทั่วไปไวโอลินจะสามารถแบ่งได้เป็น 7 ขนาด คือ 4/4 (ขนาด Full Size) , ¾ , ½ , ¼ , 1/8 , 1/10 , 1/16 โดยขนาด 4/4 เป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุดและขนาดลดหลั่นกันลงมา โดยแต่ละ Size นั้นมีความยาวดังนี้
ขนาด (Size) | ความยาว ( หน่วยเป็นนิ้ว ) |
4/4 | 23” |
3/4 | 22” |
1/2 | 20” |
1/4 | 18 ½” |
1/8 | 16 ½” |
1/10 | 16” |
1/16 | 14” |
โดยเราสามารถหาขนาดที่เหมาะสมกับเราได้โดยการเหยียดแขนออกไปด้านข้างให้ตั้งฉากกับลำตัวแล้ววัดความยาวจากกึ่งกลางฝ่ามือมาถึงต้นคอเมื่อได้ความยาวออกมาก็จะสามารถเปรียบเทียบกับความยาวของไวโอลินที่เหมาะสมกับเราได้ แต่แน่นอนว่าวิธีการเลือกขนาดของไวโอลินให้เหมาะสมกับผู้ใช้ที่ดีที่สุดคือการไปลองเล่นด้วยตัวเองว่าถนัดขนาดไหนที่สุด
และสำหรับผู้เล่นที่ยังเป็นเด็กอยู่นั้นไวโอลินที่ใช้นั้นอาจจะยังไม่จำเป็นต้องลงทุนมากนักจนกว่าขนาดที่ใช้ถนัดนั้นจะเป็นขนาด 4/4 ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุด หรือตัวเด็กร่างกายโตเต็มที่แล้ว เนื่องจากเมื่อเด็กโตขึ้นขนาดไวโอลินที่ถนัดก็จะเปลี่ยนไป
และสุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะสามารถช่วยให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเบื่องต้นเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชนิดนี้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้